โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน (โรคกระดูกบาง โรคกระดูกผุ)
คือภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง และโครงสร้างของเนื้อกระดูกเสื่อมลง ทั้งนี้เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายมีกระบวนการสร้างเนื้อกระดูกใหม่ช้ากว่ากระบวนการสลายเนื้อกระดูก จึงทำให้กระดูกเปราะบาง และมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ง่าย ซึ่งกระดูกที่หักบ่อย ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ โรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือหญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะช่วยยับยั้งการสลายเนื้อกระดูก
|
|
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง
- มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้
- หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
- คนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
- เคลื่อนไหวน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย
- คนที่มีรูปร่างเล็ก ผอม
- กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย
- อาหารที่มีไขมันมาก จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
- สูบบุหรี่จัด
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา ในปริมาณมากๆ เป็นประจำ
- ผู้ที่กินยาบางชนิด ซึ่งทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคของต่อมหมวกไต หรือการเข้าเฝือกเป็นระยะเวลานาน โรคอัมพฤกษ์ - อัมพาต
อาการของโรคกระดูกพรุน
ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการดังนี้
- ปวดหลัง ปวดตื้อๆ ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจน และอาจปวดร้าวไปด้านข้างได้
- หลังโก่ง - ค่อม ความสูงลดลง
- กระดูกเปราะบาง หักง่ายกว่าคนปกติ
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
ในคนปกติ ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงอายุ 20 - 35 ปี หลังอายุ 40 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงทั้งชายและหญิง ดังนั้น จึงควรเสริมสร้างให้เนื้อกระดูกแข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก โดยปฏิบัติดังนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัย ซึ่งปกติควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยที่สุดประมาณวันละ 800 - 1,000 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำปู กุ้งแห้ง ปลาร้าผง กะปิ ปลาเล็กปลาน้อยที่กินทั้งกระดูก ถั่วแดงหลวง งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักโขม บริคโคลี ผักคะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น
- ควรลดอาหารที่มีไขมันมาก เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศ และวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเร็วๆ แอโรบิก เต้นรำ เป็นต้น
- ควรงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา เป็นต้น
- ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดมีผลให่การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
"กินอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอทุกวัย หมั่นออกกำลังกาย ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้"
|