จอประสาทตา
จอประสาทตา Retina เป็นชั้นในสุดของลูกตา ประกอบด้วยเซลหลายชนิดเรียงตัวกันเป็นชั้นๆ มีหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามาจากภายนอก โดยผ่านกระจกตา เลนส์ตาที่ทำหน้าที่รวมแสง ให้ไปตกที่จอประสาทตา จากนั้นที่จอประสาทตา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางปฏิกิริยาทางเคมี เปลี่ยนสัญญาณแสง ให้กลายเป็นกระแสประสาท แล้วส่งไปตามเส้นประสาทตาคู่ที่2 เข้าสู่สมอง เพื่อแปลผลเป็นภาพต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบลูกตากับกล้องถ่ายรูป จอประสาทตาจะเทียบได้กับฟิล์ม ที่ทำหน้าที่รับภาพ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับจอประสาทตา จึงมีผลทำให้การเห็นภาพผิดไป หรืออาจทำให้เสียการมองเห็นไปทั้งหมดก็ได้
จอประสาทตาลอก
หมายถึงภาวะที่เกิดการแยก หรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิม โดยมีรูปแบบและสาเหตุการเกิดได้หลายประการ ได้แก่
- จอประสาทตาลอกชนิดที่เกิดจากรู หรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา (rhegmatogenous retinal detachment) ทำให้มีน้ำไหลเข้าเกิดการแยกของจอประสาทตา สาเหตุมักเกิดจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงที่ตา จอประสาทตาเสื่อมในผู้ป่วยสายตาสั้น หรือเกิดรูขาดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ เป็นสาเหตุของจอประสาทตาลอกบ่อยที่สุด
- จอประสาทตาลอกชนิดที่เกิดจากการดึงรั้ง (tractional retinal detachment) เกิดจากการดึงรั้งของพังผืดที่จอประสาทตาหรือในน้ำวุ้นตา ทำให้จอประสาทตาหลุดลอก พบไม่บ่อย มักพบในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอรับภาพระยะท้ายซึ่งมีเส้นเลือดงอกผิดปกติ ที่จอรับภาพ และมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของน้ำวุ้นลูกตา หรือจอประสาทตาอย่างรุนแรงจนเกิดชั้นพังผืด หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทำให้ลูกตาแตกหรือทะลุมาก่อน
- จอประสาทตาลอกชนิดไม่มีรูขาดที่จอตา (Exudative) เกิดจากการอักเสบ หรืออุบัติเหตุ ทำให้มีน้ำรั่วซึมขังอยู่ใต้จอประสาทตา พบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคคอรอยด์อักเสบ เนื้องอกที่จอประสาทตา หรือพบในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ ภาวะไตวาย เป็นต้น
ใครมีโอกาศเป็นโรคนี้สูง
จอประสาทลอกสามารถเกิดได้ทุกอายุ แต่จะพบบ่อยในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโอกาศเป็นมากได้แก่
- สายตาสั้นมาก
- เคยมีจอประสาทตาลอกมาก่อน
- มีประวัติครอบครัวที่จอประสาทตาลอก
- ผ่าตัดต้อกระจก
- เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา
- เป็นโรคตา เช่น retinoschisis, uveitis, degenerative myopia, or lattice degeneration
อาการของจอประสาทลอก
เริ่มต้นของผู้ป่วยที่มีจอประสาทตาลอก พบได้ตั้งแต่
- มองเห็นจุดดำลอยไปมาและเป็นมากขึ้น
- มองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ
- ภาพบางส่วนหายไป เป็นต้น
ดังนั้นผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอประสาทตาโดยละเอียด ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะผิดปกติชนิดใด และต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีใด
- หากจักษุแพทย์ตรวจพบรูขาดที่จอประสาทตา และยังไม่มีจอประสาทตาลอก อาจให้การรักษาโดยการยิงเลเซอร์รอบรอยขาด
- หากพบมีการลอกตัวของจอประสาทตา การรักษาอาจมีตั้งแต่การฉีดกาซเข้าไปในตา การผ่าตัดหนุนจอประสาทตา และการทำผ่าตัดน้ำวุ้นตา ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย