โรคไส้ติ่งอักเสบ Appendicitis เป็นการอักเสบของผนังภายในไส้ติ่ง เกิดจากการที่มีการอุดกั้นรูในใส้ติ่ง โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่ต้องการการรักษาโดยการผ่าตัดที่พบได้บ่อยที่สุด หากรักษาช้าอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้แก่ ไส้ติ่งแตก ฝีที่ไส้ติ่ง โลหิตเป็นพิษ ช่องท้องอักเสบ ไส้ติ่งเป็นโรคที่มีปัญหาในการวินิจฉัยให้ที่ถูกต้องค่อนข้างมาก ปัญหาที่เกิดได้แก่
- ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ แต่เมื่อผ่าตัดเข้าไปก็พบว่าไส้ติ่งไม่มีการอักเสบ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และญาติ
- ผู้ป่วยบางรายแม้จะไปพบแพทย์แต่ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่น จนกระทั่งไส้ติ่งแตกแล้ว จึงได้รับการรักษาวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำให้แพทย์ถูกต่อว่าจากญาติ
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบเกือบทุกรายมักจะวินิจฉัยโรคนี้ได้ หลังจากการแตกของไส้ติ่งแล้ว
- ในเด็กเล็กและผู้ป่วยสูงอายุพบว่าอาจเกิดปัญหารุนแรง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคล่าช้าเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบจะอาศัย ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเป็นเพียงการสนับสนุนการวินิจฉัย หรือแยกโรคเท่านั้น
อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ
- อาการปวดท้อง เป็นอาการที่สำคัญที่สุด ตอนแรกมักจะปวดรอบๆ สะดือ หรือบอก ไม่ได้แน่ชัดว่าปวดที่บริเวณใด แต่ระยะต่อมาอาการปวดจะชัดเจนที่ท้องน้อยด้านขวา
- อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วยคือ
- คลื่นไส้ พบได้ 61-92%
- อาเจียนพบได้ 50%
- ไข้ มักจะเกิดหลังจากเริ่มอาการปวดท้องแล้วระยะหนึ่ง
- เบื่ออาหาร พบได้ 74-78%
- ท้องเสีย พบอาการในผู้ป่วยบางราย มักจะเกิดหลังจากไส้ติ่งแตกทะลุเนื่องจากไส้ติ่งอักเสบ ที่อยู่ตำแหน่งใกล้กับลำไส้ใหญ่ส่วน sigmoid หรือ rectum อาจจะทำให้ถ่ายเหลว
- ในเด็กที่มีไส้ติ่งแตกทะลุอาจมาด้วยอาการของลำไส้อุดตันได้
การตรวจร่างกาย
เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรค
- การกดเจ็บเฉพาะที่ท้องน้อยข้างขวา เกือบทั้งหมดจะมจุดที่เจ็บที่สุดที่ท้องน้อยข้างขวา และอาจมีหน้าท้องเกร็งเวลากด (guarding) และเมื่อปล่อยมือจะทำให้ปวดท้องมากขึ้น( rebound tenderness) ด้วย
- ในผู้ป่วยไส้ติ่งแตกทะลุ หรือมีช่องท้องอักเสบ Peritonitis มักจะพบว่าจุดที่เจ็บที่สุดจะกว้างขึ้น หรือพบทั่วบริเวณท้องน้อยส่วนล่างทั้ง 2 ข้าง
- ในรายที่เป็นฝีจะคลำได้ก้อนไส้ติ่งอักเสบ (appendiceal mass) จาก phlegmon หรือ abscess มักคลำได้ก้อนที่ ท้องน้อยด้านขวา
- การตรวจทางทวารหนัก (rectal examination) นับว่าเป็นประโยชน์มาก จะพบว่ากดเจ็บที่ด้านขวาของท้องน้อย แต่ไม่นิยมทำในเด็กเล็กเพราะแปลผลได้ลำบาก
- สำหรับผู้หญิงอาจจะต้องตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจาก
การตรวจทางห้องปฎิบัติการ
ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อการตรวจร่างกายสามารถให้การวินิจฉัยได้อยู่แล้ว แต่จะทำเป็นพื้นฐานเพื่อการดูแลระหว่างการรักษาต่อไป ได้แก่
- complete blood count มักพบว่า เม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ
- การตรวจปัสสาวะ ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักในการวินิจฉัยแยกโรค แต่ช่วยแยกโรคอื่น เช่น มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ อาจต้องนึกถึงนิ่วในท่อไต
การตรวจพิเศษ
ในรายที่ลักษณะทางคลินิกบ่งชัดเจนว่าเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน การตรวจพิเศษเพิ่มเติมก็ไม่มีความจำเป็น แต่ในรายที่ลักษณะทางคลินิกไม่ชัดเจนนั้น การตรวจพิเศษอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น
- การถ่ายภาพรังสีของช่องท้อง อาจพบเงาของ fecalith หรือ localized ileus ที่ RLQ
- การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonography) ของช่องท้อง หรือ barium enema ไม่มีความจำเป็นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาในการ วินิจฉัยโรค