Support
www.Bhip.com
095-506-4939 , 085-737-7178 ไนท์
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

การดูแลเท้า

dan_ann_copel@outlook.com | 05-12-2556 | เปิดดู 161 | ความคิดเห็น 0

 การดูแลเท้าอย่างถูกวิธี 

เท้านั้นสำคัญไฉน
           เท้าเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์  เท้าประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ  26  ชิ้น  เท้า  2  ข้างมีกระดูกรวมกันทั้งหมด  52  ชิ้น  ซึ่งเป็น  1  ใน  4  ของกระดูกทั้งหมดในร่างกาย  ข้อต่อในเท้า   มีทั้งหมด 38 ข้อ มีกล้ามเนื้อ 31 มัด มีเส้นเอ็นทั้งหมด 107 เส้น 
           เท้าเป็นอวัยวะที่ทำงานหนัก ในขณะเดินมีแรงกระทำต่อเท้าข้างละประมาณ 120% ของน้ำหนักตัว  และในขณะวิ่งมีแรงกระทำต่อเท้าสูงถึงข้างละประมาณ 275%  ของน้ำหนักตัว มีการศึกษาพบว่าผู้ชายน้ำหนักตัว 68  กิโลกรัม  เท้าแต่ละข้างต้องรับน้ำหนัก  63.5  ตันในขณะเดิน  และสูงถึง  100 ตัน  เมื่อวิ่งเป็นระยะทาง  1.6  กิโลเมตร  มีผู้ประมาณการไว้ว่าชั่วชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งจะใช้เท้าเดินเป็นระยะทางเฉลี่ยถึง  120,000 – 160,000  กิโลเมตร  ซึ่งยาวมากกว่า  3  ถึง  4  เท่าของระยะทางรอบโลกเสียอีก  

เราใช้เท้าทำงานหนักในแต่ละวันจึงควรดูแลเท้าให้มีสุขภาพดี  หลักการดูแลเท้าทำได้ดังนี้
     สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลเท้าทุกวัน
1. ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ 
2. เช็ดเท้าให้แห้งทันที  โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า  
3. ถ้าผิวแห้ง ทาครีมบางๆ  ให้ทั่วทั้งหลังเท้าและฝ่าเท้า  แต่ไม่ทาบริเวณซอกนิ้วเท้า  เพราะอาจเกิดการหมักหมมได้
4. ถ้าเล็บยาวตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธีโดยตัดตามแนวขอบเล็บเท่านั้น  ไม่ตัดเล็บเซาะเข้าไปทางด้านข้างของเล็บ  
5. ถ้าอากาศเย็นให้ใส่ถุงเท้านอน  
6. ใส่รองเท้าตลอดเวลาแม้นจะอยู่ในบ้านก็ตาม
7. ใส่รองเท้าที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ
8. ออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า

การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม
1.  เลือกแบบที่ปลอดภัยกับเท้า
           ปัจจุบันมีรองเท้าหลายแบบและหลายรูปทรงให้เลือก ควรลองรองเท้าลักษณะต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ รองเท้าที่เหมาะสมไม่ควร มีตะเข็บแข็งอยู่ด้านในและไม่ควรเลือกแบบที่ใส่แล้วคับเกินไป หลวมเกินไป หรือมีส่วนของรองเท้ากดหรือเสียดสีกับเท้า
2.  เลือกแบบของรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า
           เลือกรูปทรงรองเท้าที่เหมาะสมและมีลักษณะใกล้เคียงกับรูปเท้าของเราก่อน แล้วจึงลองขนาดของรองเท้า
3.  ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนของขนาดรองเท้า
           รองเท้าเบอร์เดียวกันจะมีขนาดต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ แม้รองเท้ายี่ห้อเดียวกัน ถ้ารูปทรงต่างกันขนาดก็แตกต่างกัน ดังนั้นห้ามซื้อรองเท้าจากการดูเบอร์ ต้องลองสวมรองเท้าก่อนซื้อทุกครั้ง
4.  วัดขนาดเท้าทั้งสองข้างก่อนเลือกซื้อรองเท้าเสมอ
           เท้าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ทั้งขนาดและรูปร่างในแต่ละช่วงอายุ อีกทั้งคนส่วนใหญ่มักมีเท้าข้างใดข้างหนึ่งกว้างหรือยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ดังนั้นควรลองสวมรองเท้าทั้งสองข้างก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง
5.  ลองสวมเดินทุกครั้ง
           เมื่อเลือกรองเท้าได้แล้ว ต้องลองสวมเดินก่อนซื้อทุกครั้งเพราะรองเท้าที่ดีต้องสวมสบายทั้งในขณะนั่ง ยืนและเดิน
6.  ความยาวของรองเท้าที่เหมาะสม
           ความยาวที่เหมาะสม คือ ใส่แล้วมีระยะระหว่างปลายนิ้วที่ยาวที่สุดกับปลายของรองเท้าเหลือประมาณ 3/8 – 1/2 นิ้วฟุต หรือเท่ากับขนาดความกว้างของนิ้วหัวแม่มือ
7.  ความกว้างของรองเท้าที่เหมาะสม
           ความกว้างที่เหมาะสม คือ ส่วนที่กว้างที่สุดภายในรองเท้าควรกว้างเท่ากับความกว้างที่สุดของเท้าและอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน
8.  ส้นเท้าต้องอยู่พอดีกับส้นรองเท้า
           ตำแหน่งของส้นเท้าควรอยู่กับตำแหน่งของส้นรองเท้าและมีความกระชับพอดี  เมื่อเดินแล้วรองเท้าไม่หลุดจากส้นเท้า
9.  ถ้าใส่วัสดุเสริมในรองเท้าต้องเปลี่ยนขนาดรองเท้าให้เหมาะสม
           สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุเสริมภายในรองเท้า เช่น แผ่นรองใต้ฝ่าเท้า วัสดุเหล่านี้ทำให้รองเท้าคับขึ้น ดังนั้นเวลาเลือกรองเท้าต้องใส่วัสดุเสริมในรองเท้าก่อนลอง เพื่อให้ได้ขนาดรองเท้าที่เหมาะสม
10. เท้าเปลี่ยนขนาดได้ตามเวลาและชนิดของกิจกรรม
           เท้าเปลี่ยนขนาดและรูปร่างได้ในแต่ละช่วงของวัน เท้ามักจะขยายหลังจากเดินมาก นั่งห้อยเท้านาน ๆ หรืออกกำลังกาย ดังนั้น ก่อนเลือกรองเท้าต้องคำนึงถึงเวลาและกิจกรรมที่จะนำไปใช้ให้สอดคล้องกันด้วย                                                

           การออกกำลังเพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า  

ท่าบริหารทำได้โดย 
1. กระดกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้าๆ
2. หมุนข้อเท้า  โดยหมุนเข้าและหมุนออกช้าๆ  
3. ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็กๆในเท้า
4. นั่ง ยกขาขึ้น  เหยียดเข่าตึง  แล้วกระดกข้อเท้าขึ้นค้างไว้นับ 1 – 6 ในใจถือเป็น ครั้ง
      
           *จะเห็นได้ว่า การดูแลสุขภาพเท้าทำได้ไม่ยากเลย หากว่าเราใส่ใจให้เวลาสักนิด เท้าก็จะอยู่กับเราตลอดไป*

                   

ความคิดเห็น

วันที่: Thu Nov 14 22:46:50 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0
Tel: 095-506-4939 , 085-737-7178 ไนท์| Email: lovenight_loveyou@hotmail.com